หัวใจเต้นเร็ว อาจไม่ใช่สัญญาณของโรคหัวใจเสมอไปหัวใจเต้นเร็ว คืออัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของคนทั่วไป ทำให้รู้สึกเหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก ใจเต้นแรง และอื่น ๆ เป็นสัญญาณหนึ่งของ โรคหัวใจ แต่ถึงอย่างนั้นภาวะหัวใจเต้นเร็ว อาจไม่ใช่สัญญาณของโรคหัวใจเสมอไป แต่อาจหมายถึงโรคอื่น ๆ ได้ด้วย โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ทำให้ เมื่อ มีอาการหัวใจเต้นเร็วจึงเข้าใจว่าตนเองป่วยเป็นโรคหัวใจเท่านั้น
อัตราการเต้นของหัวใจ
อัตราการเต้นของหัวใจที่ปกติ ขณะพักจะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที กรณีที่หัวใจเต้นเร็วคือ สูงกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
ปัจจัยที่ทำให้ หัวใจเต้นเร็ว
การเคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกาย/เล่นกีฬา
ภาวะซีดหรือภาวะโรคเลือดอื่น ๆ
โรคไทรอยด์
โรคหัวใจ
ความเครียด วิตกกังวล
เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ชา
ยาบางชนิด เช่น ยาลดอาการคัดจมูก
กลุ่มเสี่ยงของคนที่มีโอกาสเกิด โรคหัวใจ
ผู้สูงอายุ
ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
ผู้ที่สูบบุหรี่
ผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ที่มีความดันสูง
ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
หัวใจเต้นเร็ว ที่ไม่ใช่โรคหัวใจ
ในคนที่อายุยังน้อยไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ อาทิ ไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ไม่มีภาวะความดันสูง ไขมันสูง เป็นไปได้ว่าภาวะหัวใจเต้นเร็วที่เกิดขึ้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ หรือมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้น้อยมาก แต่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะอื่น เช่น ภาวะซีดหรือมีภาวะโรคเลือดอื่น ๆ หรือโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งหากรักษาจนกลับมาอยู่ในภาวะปกติ อาการหัวใจเต้นเร็วก็จะดีขึ้นตามลำดับ
หากมีภาวะซีดที่ไม่รุนแรงและไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ แต่พบว่ามีอาการหัวใจเต้นเร็ว ก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาจออกกำลังกายสม่ำเสมอร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ปอดและหัวใจทำงานได้ดีขึ้น และอาจช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง
การออกกำลังกายที่เหมาะสม
คนที่มีร่างกายแข็งแรงสามารถออกกาลังกายได้ตามปกติ ความถี่ที่เหมาะสม คือครั้งละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 3-4 วัน
ในคนที่สุขภาพดี ควรสังเกตตนเองเวลาออกกำลังกายเสมอ หากเหนื่อยหอบ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ทั้งที่เพิ่งออกกำลังกายไปได้ไม่นาน หรือออกกำลังกายไม่หนักมาก ควรได้รับการตรวจว่าตนเองมีความผิดปกติหรือไม่ เพราะอาจเป็นโรคหัวใจโดยที่ตนเองไม่รู้ตัวมาก่อนได้
ที่ผ่านมาเคยมีผู้เสียชีวิตขณะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดมักพบว่ามีโรคหัวใจซ่อนเร้นโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว
ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ต้องได้รับความคิดเห็นจากแพทย์ประจำตัวก่อน เพื่อประเมินว่าสามารถออกกาลังกายได้ ในระดับไหน ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
คนที่ต้องระมัดระวังเรื่องการออกกาลังกาย ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจ
ความดันต่ำออกกำลังกายได้หรือไม่
ภาวะความดันต่ำเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ระดับความดันต่ำที่อยู่ในเกณฑ์ ปกติไม่เป็นอันตรายคือ ต้องเกิน 90 ขึ้นไปจนถึง 100 มม.ปรอทเป็นระดับที่เพียงพอต่อการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะต่าง ๆ หากต่ำกว่า 90 มักมีอาการหน้ามืด เป็นลม หกล้มบาดเจ็บ และถ้าหากพบว่าตนเองมีความดันต่ำควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนออกกาลังกายและพกน้ำดื่มติดตัว รวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ให้พร้อม