วัณโรคปอด โรคติดต่อที่แพร่เชื้อง่ายวัณโรคปอด ฟังดูเหมือนโรคโบราณ แต่กลับยังพบผู้ป่วยอยู่เรื่อย ๆ และยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO, Global Tuberculosis Report 2021) สำหรับปี ค.ศ. 2021-2025 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 30 ประเทศ ที่มีผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ HIV ปริมาณมาก โดยจากผลการดำเนินงานวัณโรคของประเทศไทยปี พ.ศ. 2563 พบว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำขึ้นทะเบียนรักษา 85,837 ราย อัตราการเสียชีวิตสูงและจะสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคร่วม ทั้งนี้ วัณโรคปอดเป็นโรคติดต่อและสามารถแพร่สู่คนผ่านละอองฝอยจากการไอและจามได้ เชื้อแพร่กระจายได้รวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
รู้จักวัณโรคปอด
วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) จัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex วัณโรคเกิดได้ทุกอวัยวะของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ 80% พบบ่อยที่ปอด เนื่องจากเชื้อติดต่อผ่านทางลมหายใจจึงทำให้เชื้อเข้าไปฝังตัวที่ปอดเป็นอวัยวะแรกของร่างกาย วัณโรคปอดจะแพร่เชื้อได้ และติดต่อได้ง่ายผ่านทางอากาศด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ และเชื้อนี้ยังสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง จึงเป็นเหตุทำให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย
สำหรับวัณโรคอวัยวะอื่น ๆ ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อกระดูก ช่องท้อง ระบบประสาท ซึ่งจะไม่แพร่เชื้อ
วัณโรคปอดติดต่อได้อย่างไร
วัณโรคปอดติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ (airborne transmission) เมื่อผู้ป่วยวัณโรคปอด ไอ จาม พูดดัง ๆ ตะโกน หัวเราะ ร้องเพลง ทำให้เกิดละอองฝอย (droplet nuclei) ฟุ้งกระจายออกมา ละอองฝอยที่มีขนาดใหญ่มากจะตกสงสู่พื้นดินและแห้งไป ละอองฝอยที่มีขนาดเล็ก 1-5 ไมโครเมตร จะลอยและกระจายอยู่ในอากาศ แพร่เชื้อให้ผู้ที่สูดเข้าไป
การแพร่กระจายเชื้อวัณโรคจะมากหรือน้อย พิจารณาปัจจัย 3 ด้านเพิ่มเติม คือ
ความสามารถในการแพร่เชื้อวัณโรคของผู้ป่วย เช่น วัณโรคปอด หลอดลม หรือ กล่องเสียง จะแพร่เชื้อทางอากาศได้มาก ผลเสมหะพบเชื้อจะมีโอกาสแพร่ได้มากกว่าเสมหะไม่พบเชื้อ
ระยะเวลาการที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอด เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วย ทำงานในห้องเดียวกัน มีโอกาสรับเชื้อมาก
ปัจจัยของสิ่งแวดล้อม เช่น การระบายอากาศที่ไม่เหมาะสม สถานที่แออัด แดดส่องไม่ถึง เชื้อสามารถอยู่ในที่ชื้นและมืดได้นานถึง 6 เดือน
การติดเชื้อ และการป่วยเป็นวัณโรคปอด
เมื่อรับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย จะมีระบบภูมิคุ้มกันทำลายเชื้อ ถ้าร่างกายกำจัดเชื้อได้หมดจะไม่เกิดการติดเชื้อ แต่ถ้าร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้หมด ยังคงมีเชื้อวัณโรคแฝงอยู่ แสดงว่ามีการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง (latent TB infection) เชื้อวัณโรคที่แฝงในร่างกายเป็นเชื้อที่ยังมีชีวิต แต่ไม่เจริญเติบโตหรือลุกลาม เมื่อร่างกายมีภาวะอ่อนแอ มีโรคร่วม อายุมากขึ้น ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อวัณโรคที่แฝงอยู่มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนทำให้ป่วยเป็นวัณโรคได้
โดยทั่วไปหลังสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค
70% ไม่ติดเชื้อวัณโรค
30% มีการติดเชื้อวัณโรค โดยคนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เรียกว่า การติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง (latent TB infection) ซึ่งไม่ใช่การป่วยเป็นวัณโรค ภาพรังสีทรวงอกปกติ ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
90% ของวัณโรคระยะแฝง ไม่ป่วยเป็นวัณโรค
10% ของวัณโรคระยะแฝง จะป่วยเป็นวัณโรค แบ่ง 5% ป่วยภายใน 2 ปีหลังรับเชื้อ อีก 5% ป่วยภายหลัง อาจนานนับสิบปีหลังรับเชื้อ
ผู้ป่วยเสมหะพบเชื้อถ้าไม่รักษาจะเสียชีวิต 30-40% ใน 1 ปี และ 50-65% ใน 5 ปี
วัณโรคปอดมีอาการอย่างไร
ไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
ไอแห้ง หรือมีเสมหะ ไอมีเสมหะปนเลือด
มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ เหงื่อออกกลางคืน
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
ไม่จำเป็นต้องมีอาการดังกล่าวทุกข้อ บางรายไม่มีอาการเลย แต่ภาพรังสีทรวงอกเข้าได้กับวัณโรคปอด
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค
ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค เช่น ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกัน เพื่อนร่วมงานในห้องเดียวกัน
ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือป่วยเป็นโรคเอดส์
ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันนานๆ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์
การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเสพสารเสพติด
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรคปอด
แพทย์จะเริ่มด้วยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เช่น การตรวจต่อมน้ำเหลือง ฟังเสียงปอดขณะหายใจ และใช้การตรวจเพิ่มเติม ได้แก่
การตรวจเสมหะ
เอกซเรย์ปอด ถ้าเอกซเรย์ปอดสงสัยแต่ไม่ชัดมากอาจต้องทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest) เพิ่มเติม
การรักษาวัณโรคปอด
วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ใช้เวลาการรักษาประมาณ 6-9 เดือน ขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรค โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแล และกำกับการรับประทานยาของผู้ป่วย พร้อมทั้งคอยแนะนำหากมีอาการแพ้ยาและพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วยรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจนครบการรักษา โดยแพทย์อาจเลือกใช้ยารักษาผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค เช่น ไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ริฟามพิน (Rifampin) เอทแทมบูท (Ethambutol) และไพราซีนาไมด์ (Pyrazinamide) เป็นต้น
อาการข้างเคียงที่พบจากการรับประทานยารักษาวัณโรค
ตัวเหลือง ตาเหลือง
อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
มีผื่นขึ้นปริมาณมาก ทั้งที่คันและไม่คัน
ไข้ขึ้น ปวดข้อ ข้อบวม ข้ออักเสบ
การมองเห็นผิดปกติ ที่ไม่พบสาเหตุอื่น
พบอาการข้างเคียงดังกล่าวต้องหยุดรับประทานยา และรีบมาพบแพทย์เพื่อปรับสูตรยา
ควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเป็นวัณโรค
ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก เวลาไอหรือจามเพื่อป้องกันไม่ให้ เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น จนกว่ารับประทานยาไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์
ไอจามใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูก ทิ้งในถังขยะที่มีถุงรองรับและมีฝาปิด ล้างมือบ่อยๆ บ้วนเสมหะในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดทำลายโดยการเผาทุกวัน หรือบ้วนเสมหะในโถส้วม
รับประทานยาตามขนาดและชนิดที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา
หลังรับประทานยาอาการจะดีขึ้น แต่ห้ามหยุดยาเป็น อันขาด เพราะจะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาและยากต่อการรักษา
รับประทานอาหารได้ทุกชนิดที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้ และพักผ่อนให้เพียงพอ
จัดสถานที่พักอาศัยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่อง
ควรงดเหล้า บุหรี่ และสิ่งเสพติดทุกชนิด เพราะมีผลต่อการรับประทานยา
ควรนำคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กไปตรวจภาพรังสีทรวงอก สำหรับในเด็กจำเป็นต้องประเมินการติดเชื้อวัณโรคเพราะต้องให้ยาป้องกัน
วัณโรคกับเอดส์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
ผู้ป่วยโรคเอดส์ ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โอกาสป่วยเป็น วัณโรคได้รวดเร็วและรุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคเอดส์
วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยเอดส์
ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นวัณโรค มีสถิติการเสียชีวิตมากกว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ไม่ติดเชื้อวัณโรค
ทั้งนี้หากมีอาการผิดปกติ น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปรับการตรวจ โดยการเอกซเรย์ปอด และตรวจเสมหะ และควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น